ประเภทของโรคจิต
โรคจิตแบ่งออกเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ คือ
๑. โรคจิตที่มีสาเหตุเนื่องจากพยาธิสภาพทางกาย ผู้ป่วยจะมีอาการงุนงง สับสน สูญเสียความจำ อารมณ์ผันแปรง่าย สติปัญญาเสื่อม แบ่งออกได้เป็น ๕ ประเภท คือ
๑.๑ โรคสมองเสื่อมในวัยชราและใกล้ชรา (senile and presenile dementia) เริ่มเมื่ออายุ ๖๕ ปีขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีอาการระแวง ซึมเศร้า หูแว่ว พฤติกรรมคล้ายเด็ก รักษาให้ทุเลาอาการทางจิตได้ด้วยยาทางจิตเวช แต่ไม่สามารถจะทำให้ความจำกลับคืนปกติได้ นอกจากนี้ โรคสมองเสื่อม อาจเนื่องมาจากหลอดเลือดในสมองแข็ง พบในผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงเป็นเวลานาน โดยไม่ได้รับการรักษา
๑.๒ โรคจิตจากสุรา (alcoholic psychoses) องค์การอนามัยโลกได้วิจัยพบว่า คนดื่มสุรา ๕๐ คนจะมี ๑ คนเป็นโรคจิตจากสุรา โรคนี้มี ๗ ชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทย คือ โรคสั่นและเพ้อ (delirium tremens) จะมีอาการมือสั่นหวาดกลัว เห็นภาพหลอนหลงผิด งุนงง สับสน โรคจิตจากสุรานั้นสามารถรักษาให้หายได้
๑.๓ โรคจิตจากยา (drug psychoses) ยาบางอย่าง เช่น ยาม้าหรือยาขยัน (แอมเฟตามีน) ยานอนหลับ (บาร์บิทุเรต) และฝิ่น เป็นต้น
๑.๔ โรคจิตชั่วคราวจากสาเหตุฝ่ายกาย (transient organic psychotic conditions) เกิดจากการป่วยด้วยโรคบางอย่าง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง ไทฟอยด์ โรคติดเชื้อ โรคต่อมไร้ท่อ และโรคระบบเมแทบอลิซึม มักมีอาการงุนงง สับสน เลอะเลือนพูดเพ้อ เห็นภาพลวงตา ประสาทหลอน เมื่อรักษาโรคทางกายทุเลาหรือหายจะไม่มีอาการร่องรอยของโรคจิตเหลืออยู่เลย
๑.๕ โรคจิตเรื้อรังจากสาเหตุฝ่ายกาย (chronic organic psychotic conditions) เกิดจากการป่วยด้วยโรคทางกาย ที่ทำให้เนื้อสมองเสียหรือเสื่อมไปเช่น โรคซิฟิลิสขึ้นสมอง โรคตับในระยะสุดท้ายเป็นต้น
๒. โรคจิตอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับพยาธิสภาพทางกาย ได้แก่
๒.๑ โรคจิตเภท (schizophrenia) มักเกิดในวัย ๑๕-๔๐ ปี สถิติโลกพบประมาณร้อยละ ๑ ของประชากร โรคจิตเภทเกิดจากสาเหตุร่วมกันหลายประการ อาการที่สำคัญ มีความผิดปกติทางความนึกคิดพูด หัวเราะ ร้องไห้คนเดียวโดยไม่มีเหตุผล ทำท่าแปลกๆ โรคจิตเภทแบ่งออกเป็นชนิดย่อย ๙ ชนิดแต่ที่พบบ่อยคือ
๒.๑.๑ โรคจิตเภทชนิดระแวงเป็นโรคจิตชนิดที่พบบ่อยที่สุด มีอาการสำคัญ คือ ระแวงว่า คนจะมาทำร้าย มาใส่ยาพิษ หรือคิดว่าตนเองใหญ่โตเกินความเป็นจริง เป็นต้น
๒.๑.๒ โรคจิตเภทชนิดคาทาโทนิก (catatonic type) เป็นชนิดที่พบรองลงมา ลักษณะสำคัญ คือ มีการเคลื่อนไหวมากขึ้นหรือน้อยลงผิดปกติอย่างชัดเจน เช่น พูดมากไม่หยุด เดินไปมา ก้าวร้าวหยาบคาย เอะอะอาละวาด หรือตรงกันข้าม ไม่พูด ไม่ขยับเขยื้อน ไม่กินอาหาร และไม่นอน เป็นต้น
๒.๑.๓ โรคจิตเภทชนิดธรรมดา เกิดอาการค่อยเป็นค่อยไป บุคคลภายนอกจะสังเกตเห็นความผิดปกติได้ต้องใช้เวลาแรมเดือนหรือแรมปี ลักษณะสำคัญ คือ แยกตัวเอง หลบไปอยู่คนเดียวในห้อง เฉื่อยชา เฉยเมย พูดคนเดียว ยืนคนเดียวเป็นต้น การรักษาส่วนมากใช้ยากลุ่มฟิโนไทอะซีนส์ (phenothiazines) ได้ผลดี บางรายรักษาด้วยการทำช็อกไฟฟ้า นอกจากการให้ยาแล้ว โรคพยาบาลจิตเวชทุกแห่งให้การรักษาแบบสิ่งแวดล้อม (milieu therapy) ร่วมด้วย เช่น การรักษาแบบกิจกรรมกลุ่ม การสังสรรค์อาชีวบำบัด นันทนาการบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเป็นอยู่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคมและชุมชนเดิม มีความเชื่อมั่น สามารถติดต่อกับบุคคลอื่นได้ และพร้อมที่จะเผชิญปัญหาได้ตามสมควร และเพื่อป้องกันมิให้อาการกลับอีก ผู้ป่วยจะต้องติดตามการรักษาเป็นเวลานาน หรือบางรายอาจต้องติดตามตลอดชีวิต
๒.๒ โรคจิตทางอารมณ์ (affective psychosesหรือ manicdepressive psychoses) เป็นโรคจิตที่มีความผิดปกติอย่างมากของอารมณ์ พบมากในประเทศทางซีกโลกตะวันตก ประมาณร้อยละ ๑-๒ ของประชากร ส่วนมากมักเกิดอาการระหว่างอายุ ๓๐-๕๐ ปี อาการจะเกิดเป็นพักๆ เมื่อหายป่วยจะเป็นปกติดีเหมือนธรรมดา สาเหตุใหญ่เนื่องจากกรรมพันธุ์เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีบางอย่างในสมอง ถ้าเด็กที่เกิดจากบิดามารดาป่วยด้วยโรคนี้ จะมีโอกาสเกิดโรคร้อยละ ๑๐-๒๕ อาการสำคัญคือมีอารมณ์ผิดปกติเศร้าหรือครึกครื้น กังวล หงุดหงิด โกรธง่าย งุนงงโรคจิตทางอารมณ์แบ่งเป็นชนิดต่างๆ ๗ ชนิด ที่พบบ่อยคือ
๒.๒.๑ โรคจิตทางอารมณ์ชนิดครึกครื้นหรือคลั่ง มีพลังกระตือรือร้นมากผิดธรรมดา ทำกิจกรรมมากขึ้นไม่เหน็ดเหนื่อย ขาดความยับยั้งชั่งใจมีกิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้น หลงผิดคิดว่าตนเป็นคนใหญ่โต หรือมีความระแวงร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมีลักษณะอารมณ์ครึกครื้นหรือโกรธง่าย หงุดหงิด พูดมากความคิดไหลบ่าท่วมท้นจนพูดไม่ทัน เป็นต้น
๒.๒.๒ โรคจิตทางอารมณ์ชนิดเศร้าพบในหญิงมากกว่าชาย ในวัยระหว่างอายุ ๔๕-๕๕ ปีมีอาการเศร้า สิ้นหวัง อยากร้องไห้เสมอๆ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า คิดอยากฆ่าตัวตาย ขาดพลัง ขาดความริเริ่ม รู้สึกว่างานธรรมดากลายเป็นงานยาก นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ความสนใจทางเพศลดลงมาก วิตกกังวล กระวนกระวายใจมาก
๒.๒.๓ โรคจิตทางอารมณ์ชนิดผสมมีอาการทั้งสองชนิดข้างต้นปนกันในเวลาเดียวกัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทุเลาได้ในเวลา ๓-๖ เดือน ถ้ารักษา อาการจะทุเลาได้ภายใน ๒-๓ สัปดาห์ การรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดอาการอาจใช้ลิเทียม (lithium) หรือใช้ยาแก้เศร้าแล้วแต่กรณี
๓. โรคจิตภาวะระแวง มีอาการสำคัญเพียงอย่างเดียวคือ มีความหลงผิดชนิดระแวง บุคลิกภาพไม่เปลี่ยนแปลงให้เห็นชัดเจน โรคจิตชนิดนี้พบน้อยกว่าโรคจิตเภท และโรคจิตทางอารมณ์ ที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่ ภาวะระแวงในวัยต่อและวัยชราเช่น ระแวงว่าขโมยจะขึ้นบ้าน ระแวงว่าภรรยาจะมีชู้ส่วนมากสามารถรักษาให้ทุเลาได้ด้วยยารักษาโรคจิต
๔. โรคจิตอื่นๆ ที่มีอาการเกิดจากความเครียดทางอารมณ์ เช่น ตกงาน ไฟไหม้บ้าน เป็นต้นอาจมีอาการออกมาในรูปเศร้า อยากฆ่าตัวตาย งุนงงหวาดกลัว หลงผิด ระแวง อาการจะทุเลาได้เร็ว ถ้าได้รับการรักษา โดยเฉลี่ยเมื่อภาวะที่ทำให้ตึงเครียดนี้หมดไป โรคนี้จะเกิดกับคนบางคนเท่านั้น คนส่วนมากสามารถปรับตัวได้เมื่อเผชิญปัญหา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น