องค์สำคัญยิ่งในการปฏิบัติ
อุเบกขา ที่จะกล่าวในเบื้องต้น ณ บัดนี้ คือ อุเบกขาในโพชฌงค์ ๗ องค์แห่งการตรัสรู้ ส่วนอุเบกขาในความหมายหรือนัยยะอื่นๆ เช่น อุเบกขาในฌาน, อุเบกขาเวทนา และอุเบกขาในพรหมวิหาร ๔ จะมีในตอนท้ายบท
เพราะไม่ว่าจะปฏิบัติภายใต้หลักธรรมใดๆก็ตามที ที่สุดของการปฏิบัตินั้นๆ อุเบกขาในโพชฌงค์ ที่หมายถึง การมีจิตหรือก็คือการมีสติเป็นกลางวางทีเฉย ที่หมายถึง การมีสติโดยการไม่เข้าไปแทรกแซง ด้วยการสำรวม กล่าวคือระวังไม่เอนเอียงเข้าไปแทรกแซงด้วยความคิดนึก ด้วยความชอบหรือชัง หรือด้วยความยินดีหรือยินร้าย หรือด้วยอาการของการคิดนึกปรุงแต่งด้วยถ้อยคิด หรือกริยาจิตใดๆ ในเรื่องหรือกิจที่สติไประลึกรู้เท่าทันนั้นๆ ที่ปัญญาพิจารณาเห็นแล้วว่าจักก่อให้เกิดทุกข์(ดังเช่น การเห็นเวทนา หรือเห็นเหล่าจิตที่เป็นโทษดังเช่นที่แสดงในสติปัฏฐาน๔ ) หรือผลอันเกิดขึ้นนั้นๆสมควรแก่เหตุ และพึงปฏิบัติตามธรรมหรือตามควรแก่เหตุนั้นๆแล้ว, เป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง และปฏิบัติด้วยความเพียรยิ่ง และเป็นหลักสำคัญยิ่งในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันในทุกขณะจิตที่รู้เท่าทัน ไม่ใช่การปฏิบัติเฉพาะเวลาปฏิบัติพระกรรมฐานเท่านั้น ต้องปฏิบัติให้เป็นประจำสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน จวบจนเป็นมหาสติ อันเกิดขึ้นและเป็นไปดังสังขารที่เกิดจากการสั่งสมในปฏิจจสมุปบาท เพียงแต่ไม่ได้เกิดแต่อวิชชา แต่กลับเกิดขึ้นมาจากวิชชาโดยตรง หรืออุปมาได้ดั่งเป็นมหาสติ ดังเช่นเมื่อตากระทบตัวอักษร จิตก็มีสติทำงานรู้เข้าใจในความหมายของอักษรในบันดลนั่นเอง ลองพิจารณาดูโดยอาศัยกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ แล้วจะพบว่าการอ่านหนังสือออกนั้นเป็นอาการของมหาสติ เพียงแต่เป็นไปในทางโลก ไม่ได้เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ ที่สามารถทำงานหรือมันเป็นไปของมันเองด้วยความชำนาญยิ่งหรือโดยอัติโนมัติ เมื่อเกิดการผัสสะกล่าวคือเมื่อตากระทบเห็นอักษรในทันที กล่าวคือ ต้องฝึกสติให้เชี่ยวชาญชำนาญยิ่งในการเห็นจิต ดุจเดียวกับการที่ตาเห็นอักษรนั่นเองที่พึงเกิดขึ้นได้จากการที่ฝึกฝนปฏิบัติเล่าเรียน(สั่งสม)มาเป็นอย่างดีแต่อดีตนั่นเอง
ต่างล้วนต้องถืออุเบกขา ในโพชฌงค์ ๗ เป็นที่สุด
เพียงแต่ว่าในแนวการสอน อาจสอน หรือจำแนกแตกธรรมออกไปแตกต่างกันตามครูบาอาจารย์เท่านั้น ดังเช่น การสอนการปฏิบัติที่กล่าวว่า เมื่อเห็นจิตคิดปรุงแต่งแล้วก็ให้กลับมาอยู่กับผู้รู้ หรือการกลับมาอยู่กับสติ ซึ่งทั้งผู้รู้ ธาตุรู้ ความจริงแล้วหมายถึงสตินั่นเอง, เห็นจิตคิดฟุ้งซ่านก็ให้หยุดคิดนึกปรุงแต่งหรือหยุดฟุ้งซ่าน, เห็นเวทนาหรือจิตแล้วไม่ยึดมั่นหมายมั่น, เห็นนิมิตเมื่อปฏิบัติสมถะก็อย่าปล่อยไหลเลื่อนไปกลับนิมิตนั้นๆให้กลับมาอยู่กับสติหรือผู้รู้หรือธาตุรู้, หรือแม้แต่การปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ เองก็ต้องประกอบด้วยการอุเบกขา แต่เป็นคำกล่าวว่า ไม่ยึดมั่นหมายมั่น ที่แสดงในตอนท้ายของทุกๆบรรพในสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งก็คือการอุเบกขานั่นเอง อุเบกขาจึงยังให้วิชชาและวิมุตติสมบูรณ์ได้ ต่างๆเหล่านี้นั้น ตามปรมัตถ์แล้ว ล้วนเป็นลักษณาการแบบต่างๆของการปฏิบัติเพื่อการ อุเบกขา ทั้งสิ้น
ดังนั้น อุเบกขา คือ อาการของการปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น อันได้แก่ อาการของการหยุดคิดนึกปรุงแต่ง, หยุดฟุ้งซ่าน, กลับมาอยู่กับผู้รู้ หรือการกลับมาอยู่กับสติ, ไม่ยึดมั่นถือมั่น ฯ. ต่างล้วนสรุปแล้วเป็นลักษณาการของการอุเบกขานั่นเอง เพียงแต่การจำแนกแตกธรรมเพื่อการอธิบายให้ตรงกับนัยของธรรมนั้นๆ หรือการใช้เพื่อการสื่อสารสั่งสอนแตกต่างกันออกไปเท่านั้นเอง กล่าวคือ ที่ต่างก็ล้วนมีจุดประสงค์ที่สำคัญก็คือ ไม่เปิดโอกาสให้จิต ออกไปปรุงแต่ง ด้วยการไปต่อล้อต่อเถียงกับจิตตน อันเป็นการไม่เปิดโอกาสให้ จิตมีโอกาสหลอกล่อเราให้ไปปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านต่างๆจนเกิดทุกข์ คือความคิดฟุ้งซ่านเหล่านั้นเกิดการผัสสะกับใจ อันยังให้เกิดทุกขเวทนาขึ้นได้ แล้วทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์ธรรมชาตินี้นี่เอง ได้เป็นเหตุปัจจัยร่วมกับตัณหา จึงยังให้เกิดทุกข์อุปาทานอันแสนเร่าร้อนเผาลนขึ้นในที่สุด โดยไม่รู้ตัว ก็ด้วยความไม่รู้(อวิชชา) อันเป็นไปตามปฏิจจสมุปบันธรรม
ข้อสำคัญในการอุเบกขา
ข้อสำคัญยิ่งในการอุเบกขาก็คือ ต้องมีสติรู้เท่าทันธรรมหรือตามความเป็นจริงเสียก่อน(ยถาภูตญาณ) ดังเช่น รู้ว่าเป็นทุกขเวทนามีอามิสก็รู้ว่ามี...สุขเวทนา...หรือรู้ว่าจิตมีโมหะ...โทสะ ฯ. กล่าวคือ เมื่อมีสติระลึกรู้หรือรู้เท่าทันในอาการของจิตแล้ว อาการความรู้สึก(เวทนา)ต่างๆมันย่อมไม่ได้หายไปไหนในทันทีเป็นธรรมดา แต่ต้องยึดการอุเบกขาไว้, การที่ต้องมีสติและปัญญารู้เข้าใจในอาการของจิตต่างๆเช่นโทสะ โมหะ โลภะ ฯลฯ. หรือมีสติและปัญญารู้เข้าใจในในเวทนาต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้เกิดการอุเบกขาไปในสังขารขันธ์อันดีงามอื่นๆที่จำเป็นในกิจหรืองานอันควรตามฐานะหรือหน้าที่แห่งตน จนกลับกลายเป็นการไปหยุดคิดหยุดนึก กดข่มไปเสียทุกสิ่งโดยขาดปัญญาอันกลับกลายไปเป็นโมหะความหลงด้วยอวิชชาไปเสีย อันให้โทษรุนแรงในภายหลัง และย่อมไม่ใช่การหยุดคิดหยุดนึกทั้งปวงด้วยคิดว่าเป็นความว่างหรือสุญญตาอย่างผิดๆ แต่เป็นการมีสติ หยุดการคิดหรือหยุดการนึกปรุงแต่ง ด้วยการไม่เข้าไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆเฉพาะในสิ่งที่สติระลึกรู้และเท่าทันแล้วว่าให้โทษนั้นๆ
อุเบกขา เป็นกลางวางทีเฉย มักไปเข้าใจกันเป็นนัยๆ โดยไม่รู้ตัวคือด้วยอวิชชาว่า ต้องรู้สึกสงบ หรือเฉยๆ ที่มีความหมายถึง เมื่อเกิดการผัสสะกับสิ่งต่างๆ(อารมณ์)แล้ว ควรจะต้องรู้สึกสงบ หรือเฉยๆ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงอุเบกขาเวทนา(อีกชื่อหนึ่งของเวทนาชนิด อทุกขมสุขเวทนา) เกิดอวิชชาเข้าใจผิดจึงเข้าใจไปว่า ต้องไม่เป็นทุกข์(ทุกขเวทนา) หรือเป็นสุข(สุขเวทนา) จึงเป็นไปในแนวทางพยายามปฏิบัติให้รู้สึกเฉยๆคืออุเบกขาเวทนา จึงเกิดความพยายามไปปฏิบัติในลักษณาการของการกดข่ม หรือสะกดไว้โดยไม่รู้ตัว อาจด้วยอำนาจของความเชื่อชนิดอธิโมกข์หรือด้วยอำนาจของสมาธิหรือฌานกดข่มไว้อันเป็นเพียงวิกขัมภนวิมุตติ อันเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างมากมาย, ดังนั้นอุเบกขาจึงมิใช่หมายถึง การที่มีอารมณ์ต่างๆมาผัสสะแล้วจะต้องรู้สึกสงบหรือเฉยๆ ดังเช่น ตาไปกระทบรูป(รูปนี้ทำหน้าที่เป็นอารมณ์)เช่นคนที่โกรธหรือเกลียดชังเข้าแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้สึกสงบหรือเฉยๆ หรือพยายามให้รู้สึกเฉยๆให้เป็นอุเบกขาเวทนา หรือไปอยาก(คือเกิดตัณหา)ให้รู้สึกสงบหรือเฉยๆ หรือไม่อยาก(คือวิภวตัณหา)เป็นทุกข์เป็นร้อนด้วยทุกขเวทนา ด้วยไม่เข้าใจว่ามันเป็นไปตามธรรมคือตามเหตุแล้วย่อมบังเกิดความรู้สึกเป็นทุกขเวทนาเป็นธรรมดา อันเนื่องมาจากสัญญาหรือความจำได้หมายรู้ในรูปที่กระทบนั้นย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา อันเป็นกระบวนธรรมการรับรู้ตามธรรมของชีวิต หรือธรรมชาติของชีวิตในการรับรู้ในสิ่งที่มากระทบคือผัสสะ จึงเป็นสิ่งที่ต้องรู้ตามความเป็นจริงของธรรม อันเป็นไปตามธรรมหรือมีเหตุจึงเกิดผล หรือเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมดังนี้ (แสดงตามกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ ถึงเวทนา เพื่อประกอบการพิจารณา)
ตา รูป จักขุวิญญาณ ผัสสะ สัญญา(ความจำได้ ชนิดอาสวะกิเลส คือ ขุ่นมัวคือมีกิเลสแฝงอยู่ในรูปที่กระทบผัสสะนั้น) ทุกขเวทนา ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา อันเป็นไปตามธรรมคือธรรมชาติของชีวิตในการรับรู้ในสิ่งที่กระทบสัมผัส คือผัสสะ
หรือ เขียนอธิบายให้ละเอียดขึ้น ก็ได้เป็นดังนี้
[อาสวะกิเลส(ความจำในกิเลสแต่นอนเนื่องอยู่) ] ดังนั้นเมื่อ ตา รูป จักขุวิญญาณ ผัสสะ สัญญา(อาสวะกิเลสที่จำและเข้าใจในรูปนี้ ที่นอนเนื่องอยู่ จึงเกิดขึ้น หรือเกิดการทำงานขึ้น คือผุดความจำใดๆที่ตนเคยเกิดเคยเป็นในอดีตในรูปนี้ขึ้นมานั่นเอง) ทุกขเวทนา
ดังนั้นเมื่อเกิดการผัสสะกับรูปดังกล่าว ทุกขเวทนา จึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความรู้สึกเป็นทุกข์ ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ ไม่สบายใจเป็นธรรมดา เป็นไปตามกระบวนธรรมหรือธรรมชาติ ลองพิจารณาจากอายตนะกายที่ถูกการอย่างกระทบอย่างรุนแรงดู ก็อาจจะเห็นแจ้งขึ้น
กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ ผัสสะ สัญญา(ความจำและเข้าใจได้ คือ ขุ่นมัวในโผฏฐัพพะชนิดนี้) ทุกขเวทนา ย่อมเกิดขึ้น กล่าวคือเกิดความรู้สึกรับรู้ความเจ็บปวดจากการผัสสะนี้เป็นธรรมดา ไม่มีทางเป็นอื่นไปได้นั่นเอง อันเป็นสภาวธรรมอันเป็นไปตามความเป็นจริง ถ้าพิจารณาต่อจนจบกระบวนธรรม ดังเช่น กายกระทบโผฏฐัพพะดังกล่าวนี้ แต่จากผู้อื่นมากระทำอย่างรุนแรง จนถึง สังขารขันธ์ เช่น จิตสังขาร ดังเช่น จิตมีโทสะ โมหะ โลภะ จิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน ฯ
กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ ผัสสะ สัญญา(ความจำได้ คือ ขุ่นมัวในโผฏฐัพพะอย่างนี้) ทุกขเวทนา ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สัญญา(หมายรู้) จิตสังขาร เช่น จิตอาจมีโทสะ หรือโมหะ ฯ.
เพราะในช่วงปฏิบัติย่อมยังไม่เกิดมรรคผลนั้น สัญญาชนิดขุ่นมัวหรือเจือกิเลส หรืออาสวะกิเลสย่อมยังมีอยู่เป็นธรรมดา ดังนั้นจึงย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปดังกระบวนธรรมข้างต้น ดังนั้นการอุเบกขา จึงมิได้หมายความว่า เมื่อเกิดการผัสสะแล้วต้องเกิดความรู้สึกชนิดอุเบกขาเวทนา(อีกชื่อหนึ่งของอทุกขมสุขเวทนา) หรือการต้องรู้สึกเฉยๆ หรือการพยายามทำให้รู้สึกเฉยๆ จะไม่ให้รู้สึกรู้สาในเวทนาเหล่านั้น(ความรู้สึกรับรู้อันเกิดแต่ผัสสะเป็นปัจจัย) หรือจิตสังขารที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ที่ตามความเป็นจริงแล้ว ต้องเข้าใจตามความเป็นจริงแห่งธรรมว่า ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเมื่อเกิดการผัสสะต่างๆเมื่อเป็นไปตามธรรมหรือเหตุข้างต้นที่แสดงเป็นธรรมดา, หรือเกิดจากการผัสสะอันเกิดแต่ทวารต่างๆ ดังเช่น จากเหตุที่เหล่าธรรมารมณ์ต่างๆกระทบผัสสะใจ จากรูปที่ตาไปกระทบผัสสะ จากเสียงที่หูไปกระทบผัสสะ จากรสที่ลิ้นไปกระทบผัสสะ จากกลิ่นที่จมูกไปกระทบผัสสะ จากโผฏฐัพพะที่กายไปกระทบผัสสะ ที่ล้วนเมื่อผัสสะแล้ว ย่อมต้องเกิดความรู้สึกรับรู้(เวทนา)อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็พึงรู้สึกอย่างนั้นเป็นไปตามธรรม การไปกดข่มหรือหลีกเลี่ยงก็ย่อมกระทำได้แต่เป็นเพียงครั้งเป็นคราวเท่านั้นเอง ดังเช่น การกดข่มด้วยอำนาจของฌาน,สมาธิในขณะนั้นๆ หรือการใช้กำลังของจิตเข้ากดข่มดื้อๆเป็นเรื่องๆไป เป็นสภาวะที่ยังไม่ถาวร ไม่เที่ยง ยังเป็นเพียงวิกขัมภนวิมุตติ ซึ่งก่อผลร้ายได้ถ้าเกิดการติดเพลินหรือไปเข้าใจผิดว่าเป็นที่สุดของการดับทุกข์ ดังเช่น เหตุที่ทำให้ติดเพลินในฌานสมาธิ ก็เหตุเพราะการดับทุกข์จึงเป็นสุขอันเกิดแต่ฌานสมาธินั้น เนื่องแต่เป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กันโดยธรรมชาติกับนิวรณ์ทั้ง ๕ ที่เป็นกิเลสที่ยังให้เกิดทุกข์ระดับกลางขึ้น ดังนั้นเมื่อเป็นการระงับไปของนิวรณ์ ๕ ได้ในขณะนั้นๆในระยะหนึ่งๆอันเนื่องจากการที่จิตไปแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง(คือสมาธิ)จิตย่อมไม่ส่งส่ายไปเกิดการผัสสะให้เกิดทุกข์หรือนิวรณ์ ๕ ขึ้น ก็ย่อมต้องเกิดความรู้สึกสงบ จึงเป็นสุข อันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตานั่นเอง, จึงมักพากันไปเกิดการติดเพลินหรือเพลิดเพลิน(นันทิ)อยู่ในความสุข สงบ ฯ. ภายในที่เกิดขึ้นจากการที่จิตเป็นสมาธิเหล่านั้น โดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา
แม้กระทั่งสัญญานั้น ไม่เป็นอาสวะกิเลสแล้วก็ตาม คือเป็นสัญญาจำและหมายรู้ตามความเป็นจริงแล้วก็ตาม ก็ยังให้เกิดทุกขเวทนาและจิตสังขารเช่นโทสะได้ เพราะเกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมนั้นเอง ดังที่มีผู้เรียนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโลว่า "ท่าน ยังมีโกรธอยู่ไหม" ท่านตอบอย่างสั้นๆตามความเป็นจริงยิ่งว่า "มี แต่ไม่เอา" เป็นคำตอบที่ถูกต้องดีงามที่แสดงถึงหลักการปฏิบัติตามความเป็นจริงอย่างเป็นที่สุดอีกด้วย เพราะกระบวนธรรมหรือธรรมชาติของจิตย่อมดำเนินเกิดขึ้นและเป็นไปดังตัวอย่างต่อไปนี้ อันเกิดแต่การกระทบของเสียงที่ไม่ถูกใจ เช่นเสียงด่าว่า
หู เสียง โสตวิญญาณ ผัสสะ สัญญา(จำได้ถึงความไม่ชอบในความหมายของเสียงนั้นเป็นธรรมดา แต่ไม่มีกิเลส แต่ก็เป็นไปตามความจำที่จดจำและเข้าใจ) ทุกขเวทนา ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สัญญา(หมายรู้ ที่รู้ตามจริง) จิตสังขาร เป็นความโกรธ ดังที่ท่านกล่าวตอบว่า มีอยู่ จึงเป็นคำตอบตามความสัจจ์ยิ่ง
กล่าวคือ เกิดขึ้นและเป็นไปตามที่ท่านกล่าวไว้นั้นจริงๆ แต่ไม่เอาจึงมีความหมายอันสำคัญยิ่ง ที่หมายถึง มีสติ(เห็นเวทนานุปัสสนาหรือจิตตานุปัสสนา)แล้วไม่เอาไปยึดถือ หรือไม่เอาไปคิดนึกปรุงแต่ง หรือไม่เอาไปฟุ้งซ่านปรุงแต่ง กล่าวโดยสรุปก็คืออุเบกขานั่นเอง ดังนั้นแม้เกิดทุกขเวทนาที่ไม่ถูกใจและจิตสังขารที่เป็นโทสะหรือโกรธแล้วก็ตาม อันเกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติเป็นธรรมดาของกระบวนการรับรู้ของชีวิต เป็นไปในลักษณาการของขันธ์ ๕ ที่ยังคงมีอยู่ จึงต้องเกิดการรับรู้ขึ้นเป็นไปตามธรรมเป็นธรรมดา, แต่เมื่ออุเบกขาเสียแล้ว จิตสังขารนั้นก็จบลง ณ ที่นั้น แบบค่อยๆมอดดับไปซึ่งย่อมไม่รวดเร็วดังการเกิด แต่เมื่อไม่ต่อความยาวสาวความยืดให้เกิดการปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านไปในอารมณ์นั้นๆอีกให้เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา อันเป็นอุปาทานทุกข์ ที่เป็นทุกข์จริงๆที่เร่าร้อนเผาลน ที่พระองค์ท่านต้องการให้ดับสนิทไปในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ใช่ทุกข์ธรรมชาติอีกต่อไปที่แม้เป็นทุกข์บ้างตามธรรมหรือตามธรรมชาติก็จริงอยู่ แต่ไม่เร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายเยี่ยงอุปาทานทุกข์
ในกรณีที่เกิดแต่กายกระทบโผฏฐัพพะอย่างรุนแรง ถ้าพิจารณาโดยแยบคาย จะเห็นเด่นชัดจนเกิดปัญญาจักขุขึ้นได้ว่า ต้องเป็นเฉกเช่นนี้เองเป็นธรรมดา
กาย โผฏฐัพพะ(อย่างแรง) กายวิญญาณย่อมเกิดขึ้น ผัสสะ สัญญา(จำได้ในทุกข์กายนั้น) ทุกขเวทนา ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ไม่สามารถเป็นอื่นไปได้ ลองตีแขนตัวเองอย่างแรงๆดู ก็จะเห็นเด่นชัดขึ้น ตีแรงๆครั้งใดก็เกิดทุกขเวทนาความรู้สึกเจ็บปวดที่ไม่สบายกาย ไม่ชอบใจทุกครั้งทุกทีไป ไม่เป็นอื่น พึงโยนิโสมนสิการโดยแยบคายพิจารณาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้โดยละเอียดและแยบคายว่า เป็นทุกขเวทนาจริงๆกล่าวคือไม่สบายกาย ไม่ชอบใจเป็นธรรมดา แต่ขาดเสียซึ่งความเร่าร้อนเผาลนจนเป็นทุกข์อุปาทาน เพราะไม่ได้เกิดตัณหา อุปาทาน จนเป็นทุกข์อุปาทาน, ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นเพียงทุกขเวทนาหรือทุกข์ธรรมชาติของชีวิตอันมีมาแต่การเกิดนั่นเอง พึงโยนิโสมนสิการว่า พึงมีผู้หนึ่งผู้ใดหลีกหนี หลบพ้นได้หรือ? เป็นเช่นนี้เอง เป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาตินั่นเอง
กาย โผฏฐัพพะ(อย่างแรง) กายวิญญาณ ผัสสะ สัญญา(ชนิดขุ่นมัวในทุกข์กายนั้น) ทุกขเวทนา ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ไม่สามารถเป็นอื่นไปได้ ผู้อื่นตีแรงๆครั้งใดก็เกิดทุกขเวทนาความรู้สึกเจ็บปวดที่ย่อมไม่ชอบใจทุกครั้งทุกทีไป ไม่เป็นอื่น แต่มักเกิดตัณหาชนิดวิภวตัณหา อุปาทาน จนเป็นอุปาทานทุกข์ที่เร่าร้อนแลมีกำลัง จนเกิดจิตสังขาร แช่งชักหักกระดูกในใจ ถ้ารุนแรงก็อาจร่วมด้วยวจีสังขารถึงขั้นเกิดการด่าทอต่อว่า หรืออาจร่วมเกิดกายสังขารร่วมด้วยถึงขั้นลงมือลงไม้ก็เป็นได้
ในกรณีที่เกิดแต่ธรรมารมณ์ชนิดความคิดแฝงกิเลสมากระทบใจ ก็ดำเนินเป็นไปเฉกเช่นเดียวกัน ดังนี้
คิด ใจ มโนวิญญาณ ผัสสะ สัญญา(ความจำหรืออาสวะกิเลส ชนิดขุ่นมัวในความคิดนึกนั้น) ทุกขเวทนา ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ดังนั้น อุเบกขา เป็นกลาง วางทีเฉย ในโพชฌงค์หรือใช้ในการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ จึงหมายถึง การระลึกรู้เท่าทันตามความเป็นจริง แล้วมีเจตนาความตั้งใจ วางใจหรือจิตให้เป็นกลาง ที่มิได้หมายความว่าเป็นกลางอย่างชนิดต้องรู้สึกเฉยๆด้วยอุเบกขาเวทนา แต่เป็นกลางวางเฉยที่หมายถึง เป็นกลางโดยการตั้งใจไม่เข้าไปแทรกแซงปรุงแต่งในกิจหรือเรื่องนั้นๆต่อไปคือปล่อยวาง กล่าวคือ เมื่อสติระลึกรู้เท่าทันเวทนา(เช่น ทุกขเวทนา,สุขเวทนา,อุเบกขาเวทนา ฯ. - เวทนานุปัสสนา) หรือรู้เท่าทันจิต(จิตสังขาร เช่น ความคิดฟุ้งซ่าน,โทสะ,โมหะ ฯ. - จิตตานุปัสสนา) ที่เกิดขึ้น จากการที่สิ่งต่างๆจรมากระทบ(ผัสสะ)ไม่ว่าจากทวารใดๆเป็นเหตุก็ตาม อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, ก็เพียงรับรู้ตามความเป็นจริง ในความรู้สึกเช่นทุกขเวทนา หรือจิตสังขาร เช่น โทสะ ฯ.ใดๆที่เกิดขึ้นเหล่านั้น รู้สึกอย่างไรก็ย่อมรู้สึกเช่นนั้น อันเป็นไปตามธรรมหรือเหตุ ไม่กดข่มหรือไม่ปรุงแต่งใดๆ เช่นมีจุดประสงค์ปรุงแต่งเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกเช่นทุกขเวทนาขึ้น แต่ให้มีสติ รู้เท่าทัน แล้วหยุดไม่ปล่อยให้ความคิดเลื่อนไหลไปคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านไปกับเวทนาหรือจิตสังขารนั้นๆต่อไปอีก โดยการเป็นกลาง วางทีเฉยด้วยการไม่แทรกแซงด้วย กริยาจิต หรือ ถ้อยคิดปรุงแต่ง ใดๆในเรื่องเหล่านั้น กล่าวคือ ไม่เอนเอียง ไม่แทรกแซงไปคิดนึกปรุงแต่งไปทั้งในทางดีหรือชั่ว ดั่งเช่น ถูกหรือผิด บุญหรือบาป อดีตหรืออนาคต ใกล้หรือไกล ละเอียดหรือหยาบใดๆทั้งสิ้น ซึ่งก็คือการหยุด กริยาจิต ตลอดจนการคิดนึกปรุงแต่งหรือการฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งในอารมณ์เหล่านั้นนั่นเอง การอุเบกขา ระลึกรู้เท่าทันตามความเป็นจริงในเวทนาหรือจิต แล้วเป็นกลางวางทีเฉย ฟังดูแล้วเห็นว่า หลักปฏิบัติอันยิ่งใหญ่ช่างแลดูง่ายแสนง่าย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ปฏิบัติได้ยากแสนยาก จึงต้องเพียรสั่งสมอบรมปฏิบัติ แรกปฏิบัติย่อมยากเย็นแสนเข็ญเป็นธรรมดาเพราะเป็นการฝืนสภาวธรรมของสังขารกิเลสอันสั่งสมมาอย่างยาวนานตามดังวงจรปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ ตั้งแต่เกิดจำความได้จวบจนปัจจุบัน หรือยาวนานจนไม่รู้ว่าสั่งสมมานานสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้น ที่ปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา แรกปฏิบัติใหม่ๆจึงอาจต้องอาศัยธรรมต่างๆเป็นเครื่องช่วย ดังที่กล่าวไว้ในเรื่องทุกขังในพระไตรลักษณ์ กล่าวคือ เมื่อมีสติระลึกรู้เท่าทันเวทนาหรือจิตแล้ว อาจอาศัยอิริยาบถบดบังทุกข์หรือการแยกพรากช่วยเบี่ยงเบนบดบัง จนกว่าจะดับไป กล่าวคือ ให้จิตไปอยู่กับสิ่งอันควร ดังเช่น มีสติอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม หรือสติปัฏฐาน ๔ , หรือเมื่อระลึกรู้เท่าทันแล้ว พุทโธ กำกับอย่างมีสติ หรือจะอยู่กับการบริกรรมอย่างมีสติว่า อุเบกขาเป็นกลาง วางทีเฉย ด้วยการไม่เอนเอียงแทรกแซงสอดแส่ด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้น หรืออิริยาบทอื่นๆ อันครอบคลุมถึงอยู่ในกิจหรืองานอันควรตามหน้าที่ตน หรือคิดในเรื่องอันควรอื่นๆ เช่น การพิจารณาธรรม ที่เราเรียกกันว่า มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ดังเช่น การเห็นเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์บ้าง(เวทนานุปัสสนา) หรือการเห็นจิตโทสะ โมหะบ้าง(จิตตานุปัสนา) อันยังให้เกิดปัญญาญาณอีกด้วย แต่เมื่อเชี่ยวชาญชำนาญขึ้นจากการสั่งสมอบรมด้วยความเพียร เมื่อรู้เท่าทันตามความจริงแล้ว ก็อุเบกขาเป็นกลางวางทีเฉยเสียดื้อๆ ไม่ต้องเยิ่นเย้อต่อความยาวสาวความยืดใดๆอีกต่อไป กล่าวคือ ไม่ไปต่อล้อต่อเถียงกับจิต ไม่เปิดโอกาสให้จิตหลอกล่อออกไปปรุงแต่งให้เกิดการผัสสะขึ้นนั่นเอง
เวทนาหรือจิตสังขารที่ก่อให้เกิดทุกข์เหล่านั้น เมื่อระลึกรู้เท่าทันอันประกอบด้วยปัญญา
แล้วอุเบกขาได้ ก็จักเกิดอาการค่อยๆมอดลง...มอดลง...มอดลง...จนดับไป
ให้เห็น ให้รู้ประจักษ์ ได้เฉพาะตน(ปัจจัตตัง)ในที่สุด
การปล่อยให้เลื่อนไหลไปคิดนึกปรุงแต่ง ยังผลให้เกิดเวทนาขึ้นอีก อันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อันก่อทุกข์ขึ้นเนื่องต่อไปนั่นเอง
เหตุที่ต้องอุเบกขา ก็เพราะทุกๆความคิดปรุงแต่งหรือจิตฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งนั้น ล้วนยังให้เกิดเวทนาขึ้นอีกทุกทีทุกครั้งไปตามธรรมหรือเหตุ อันย่อมเป็นไปดังกระบวนธรรมของจิตดังนี้เป็นธรรมดา
กล่าวคือ ย่อมยังเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเวทนาขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่องจากทุกๆความคิดที่เกิดขึ้นนั้น ดังเช่น เกิดทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์ธรรมชาติขึ้นอย่างต่อเนื่องกันไป และที่สำคัญยิ่ง เวทนาเหล่านั้นยังอาจเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหาขึ้นในที่สุด จากการคิดนึกปรุงแต่งต่างๆเหล่านั้น จึงยิ่งทำให้เวทนาเหล่านั้นแปรปรวนไปเป็นเวทนูปาทานขันธ์หรือเวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน ที่ยิ่งแสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายกว่าทุกข์ธรรมชาติ(เวทนา)อีกมากนัก อันล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามวงจรการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
การระลึกรู้เท่าทันตามความเป็นจริงในเวทนาหรือจิต แล้วจึงอุเบกขา ก็เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งเช่นกัน เพราะมิฉนั้นจะเกิดความเคยชินตามที่สั่งสมอย่างผิดๆ(สังขารกิเลส)ในการไปหยุดความคิดอันดีงามอื่นๆในการดำเนินชีวิตในภายภาคหน้า กลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืม ไม่รู้หน้าที่หรือกิจอันควรไปเสีย
อนึ่งการแยกแยะว่าสิ่งใดเป็นความคิดอันจำเป็นในการดำรงชีวิต(ขันธ์ ๕) หรือสิ่งใดที่เป็นคิดนึกปรุงแต่ง หรือจิตส่งออกนอกไปปรุงแต่ง หรือฟุ้งซ่านออกไปภายนอก(กาย เวทนา จิต ธรรม) อันก่อให้เกิดทุกข์ จะบังเกิดได้อย่างถูกต้อง ต้องเกิดแต่ความเข้าใจหรือภูมิรู้ภูมิญาณ อันจักบังเกิดขึ้นได้จากการโยนิโสมนสิการ เพราะย่อมไม่สามารถหยุดคิดหยุดนึก คือไปยึดความว่างจากการคิดทั้งปวงว่าเป็นทางพ้นทุกข์นั่นเอง
การอุเบกขาหรือตัตรมัชฌัตตตานั้น เป็นหนึ่งในเจตสิก ๕๒(ข้อที่ ๓๔) อันเป็น สังขารขันธ์ ชนิดจิตตสังขารอย่างหนึ่ง จึงต้องประกอบด้วยสัญเจตนา ที่หมายถึง มีเจตนาหรือความจงใจหรือคิดอ่านที่จะกระทำขึ้น ไม่ใช่จะเกิดขึ้นมาได้เองเฉยๆ แล้วกระทำหรือปฏิบัติอย่างไรเล่า ? ก่อนอื่นจึงต้องมีสติรู้เท่าทัน แล้วมีเจตนากระทำเนื่องมาจากความรู้เข้าใจในธรรม(ปัญญา) จึงกระทำโดยการไม่เอนเอียงไม่แทรกแซงด้วยถ้อยคิดปรุงแต่งหรือกริยาจิตใดๆ เป็นสังขารขันธ์การกระทำการปฏิบัติที่มีคุณยิ่งอนันต์ จึงสามารถฝึกฝน สามารถปฏิบัติได้ อันเป็นสิ่งที่ควรภาวนา คือทำให้เจริญ ให้มี ให้เกิด ให้เป็น (ภาเวตัพพธรรม) ในขั้นต้นนั้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องเจตนากระทำหรือฝึกปฏิบัติที่ แม้ทำได้ยากแสนยากจริงๆ จึงต้องหมั่นเพียรยิ่งในการฝึกฝนอบรม จนในที่สุดเป็นความเคยชิน หรือสังขารที่สั่งสมไว้ ดังเช่น สังขารในปฏิจจสมุปบาท เพียงแต่มีแตกต่างอันยิ่งใหญ่ตรงที่มิได้เกิดแต่อวิชชา แต่กลับก่อเกิดขึ้นมาจากวิชชา, กล่าวคือ เมื่อเป็นสังขารอันสั่งสม ไว้แล้ว ก็จะเหมือนกับสังขารขันธ์อื่นๆที่ได้สั่งสมไว้ เช่น การอ่านหนังสือ การว่ายนํ้า การขี่จักรยาน บุคคลิก ฯลฯ. อันสามารถผุดขึ้นมากระทำเอง หรือกระทำเองโดยอัติโนมัติในที่สุด หรือโดยความเชี่ยวชาญชำนาญยิ่งนั่นเอง อันเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ของชีวิตอันยิ่งใหญ่เช่นกัน ที่สามารถฝึกฝนอบรมได้ หรือก็คือมหาสติ นั่นเอง อันเป็นไปเพื่อการดับทุกข์อย่างถูกต้องดีงามนั่นเอง ข้อสำคัญการอุเบกขานี้เกิดจากสติระลึกรู้ตามความเป็นจริงหรือธรรมหรือปัญญานั่นเอง ไม่ใช่คิดนึกสิ่งใดก็จักอุเบกขาแต่ฝ่ายเดียว อันจักกลายเป็นอุเบกขาในวิปัสสนูปกิเลส(ข้อ ๙)ไปเสีย
สติและปัญญา ต่างก็ล้วนเป็นสังขารขันธ์ชนิดจิตสังขารหรือมโนสังขารเช่นกัน จัดอยู่ในอาการของจิตในเจตสิก ๕๒ ข้อที่ ๒๙ และ๕๒ จึงเป็นสิ่งที่ต้องมีสัญเจตนาหรือเจตนาหรือความจงใจในการกระทำเช่นกัน และด้วยความเพียรยิ่งเช่นกัน
อุเบกขาในโพชฌงค์ จึงเป็นการหลักปฏิบัติที่สำคัญยิ่งเป็นที่สุด เป็นองค์สุดท้ายในโพชฌงค์ ๗ ในการยังให้เกิดวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ หรือการดับไปแห่งทุกข์ให้บริบูรณ์ ที่หมายถึง การปฏิบัติโดยการ เป็นกลางวางทีเฉย กล่าวคือรู้สึกอย่างใดก็อย่างนั้นเป็นธรรมดา แต่ต้องไม่เอนเอียง ไม่แทรกแซงไปปรุงแต่งไปฟุ้งซ่าน ด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตอย่างใดในอารมณ์นั้นๆ กล่าวคือไม่ไปยึดมั่นหมายมั่น ไม่ปรุงแต่งแม้ใน ดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ บุญ-บาป อดีต-อนาคต ถูก-ผิด เขา-เรา ฯลฯ.ใดๆ เพราะล้วนเป็นการเอนเอียงไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิต ดังเช่น เราถูกเขาผิด เราดีเขาชั่ว ฯลฯ. ต่างล้วนเป็นมารยาของจิต อันย่อมยังให้เกิดเวทนาขึ้นจากการผัสสะตามการฟุ้งซ่านปรุงแต่งนั้นๆ อันจักเป็นปัจจัยให้เกิดทุกขเวทนาอย่างต่อเนื่อง และถ้ามีตัณหาเกิดขึ้นต่อเวทนาใดเวทนาหนึ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทานทุกข์ขึ้น หรือเกิดอุปาทานทุกข์เผาลนต่อเนื่องแบบ เกิดดับ เกิดดับ....ไปอย่างยาวนาน จนรู้สึกราวกับว่าต่อเนื่องเป็นชิ้นเป็นอันเดียวกัน ทั้งๆที่เกิดขึ้นและเป็นไปในลักษณาการเกิดดับ...เกิดดับ.....
ถ้าไม่รู้ว่าจะให้จิตอยู่ในสิ่งใด มีความรู้สึกว่าเคว้งคว้างไม่มีที่ยึดเหนี่ยว ก็ให้กำหนดอยู่ใน กาย เวทนา จิต ธรรม หรือที่กล่าวกันสั้นๆว่า ให้มีสติอยู่กับกายหรือจิต หรือมีสติอยู่กับรูปหรือนาม (แต่ต้องไม่ใช่จิตส่งใน) อันเป็นเครื่องอยู่ ที่หมายถึง มีสติรู้เท่าทัน หรือเพื่อการพิจารณา แล้วปล่อยวาง (ถ้าเป็นการพิจารณาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ถือว่าเป็นการไม่ปล่อยวาง) ที่ยังประโยชน์ยิ่งในการดับทุกข์ ไม่เป็นทุกข์โทษภัย และยังให้เกิดการสั่งสมปัญญาในการดับทุกข์อย่างถาวร
อุเบกขา จะปฏิบัติได้ผลอย่างดียิ่ง เมื่อกอบด้วยองค์ธรรมอีกทั้ง๖ ในโพชฌงค์ ๗ เป็นเหตุปัจจัยเครื่องสนับสนุนร่วมกัน อันมี สติ๑ เป็นปัจจัยเครื่องหนุน ธัมมวิจยะ๑ เป็นปัจจัยเครื่องหนุน วิริยะ๑ เป็นปัจจัยเครื่องหนุน ปีติ๑ เป็นปัจจัยเครื่องหนุน ปัสสัทธิ๑ เป็นปัจจัยเครื่องหนุน สมาธิ๑ เป็นปัจจัยเครื่องหนุน อุเบกขา
ถ้าโยนิโสมนสิการในปฏิจจสมุปบาท หรือสติปัฏฐาน ๔ หรือในธรรมใดก็ตามที กล่าวคือเมื่อเกิดปัญญาความเข้าใจธรรมอย่างถูกต้องดีงามแล้ว เมื่อปฏิบัติต้องประกอบด้วยสติในการระลึกรู้เท่าทันอย่างต่อเนื่อง(สัมมาสมาธิในการดับทุกข์) และองค์อุเบกขาด้วยทุกครั้งไป เพราะตราบใดที่ยังคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านไปภายนอก(กาย เวทนา จิต ธรรม) หรือจิตส่งออกนอกไปคิดปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา ย่อมเกิดการผัสสะ ซึ่งย่อมยังให้เกิดเวทนาอันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติทุกครั้งทุกทีไปเป็นธรรมดา (ศึกษารายละเอียดการเกิดขึ้นและเป็นไปทุกครั้งที่มีการกระทบผัสสะได้จากเรื่องขันธ์ ๕) จึงย่อมยังให้เกิดเวทนา ดังเช่นเกิดทุกขเวทนาอย่างต่อเนื่อง อุปมาดั่งการปาก้อนหินลงนํ้าอย่างไม่หยุดหย่อนนั่นเอง ผิวนํ้าอันอุปมาได้ดั่งจิตจึงเกิดการกระเพื่อมหวั่นไหวด้วยเวทนาทุกครั้งทุกทีไปที่มีการกระทบ ผิวนํ้าหรือจิตจึงไม่สงบราบเรียบจากการกระทบ เกิดการกระเพื่อมหวั่นไหวอย่างต่อเนื่องตราบใดที่ยังไม่หยุดการขว้างหรือการปรุงแต่ง กล่าวคือลองพิจารณาว่าเมื่อขว้างหินลงนํ้าย่อมเกิดการกระเพื่อมจากการกระทบกันเป็นธรรมดา ไม่เป็นอื่นไปได้ อย่างมากก็แค่มีความแตกต่างกันในความแรงค่อยของการกระทบ อันเป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งเท่านั้น
คลิกที่รูป ๑ ครั้ง อุปมาดั่งการคิดปรุงแต่ง ๑ ครั้ง ย่อมเกิดการผัสสะ ให้กระเพื่อมหรือเกิดเวทนาขึ้น ๑ ครั้ง เช่นกัน
ดังนั้นเมื่อปาก้อนหินหรือปรุงแต่งไม่หยุดหย่อน หรืออยู่เนืองๆ
ผิวนํ้าจึงย่อมเกิดการกระเพื่อมเหมือนดั่งจิตที่เกิดเวทนาขึ้นอย่างไม่ขาดสาย แลดูเหมือนว่าต่อเนื่องกัน ทั้งๆที่ตามความจริงแล้ว
เกิดขึ้นและเป็นไปในสภาวะ เกิดดับ...เกิดดับๆ....เนื่องเพราะไม่ปล่อยวาง โดยการอุเบกขานั่นเอง
จะไม่ให้ผิวนํ้ากระเพื่อมหรือไม่ให้เกิดเวทนา ย่อมเป็นไปไม่ได้
สามารถทำให้กระเพื่อมมากน้อยถี่ห่างต่างกันเท่านั้น ส่วนการหยุดการขว้างเสียอุปมาดุจการหยุดปรุงแต่งหรือการอุเบกขา เป็นสิ่งที่กระทำได้นั่นเอง
ผิวนํ้าหรือจิต จึงย่อมสงบราบคาบลงเป็นลำดับ
และเวทนาที่เกิดอย่างหลากหลายจากการปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านเหล่านั้น ย่อมอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาขึ้น อันจักทำให้เกิดทุกขเวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน(เวทนูปาทานขันธ์)อันย่อมแสนเร่าร้อนเผาลน วนเวียนยิ่งกว่าทุกข์ธรรมชาติเดิมเสียอีก จึงต้องมีองค์อุเบกขาเป็นการปฏิบัติควบคู่กำกับไปด้วย เป็นการดับเหตุก่อ ที่จะยังก่อเหตุให้ต่อเนื่องสืบไปนั่นเอง ดังในสติปัฏฐาน ๔ นั้น ในทุกๆท้ายบรรพหรือบท ท่านก็ใช้คำว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆในโลกนี้ ซึ่งมีจุดประสงค์หรือมีความหมายเดียวกันกับอุเบกขาในโพชฌงค์นั่นเอง การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ก็คือการปฏิบัติในแนวทางปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง กล่าวคือ เมื่อเข้าใจและระลึกรู้เวทนาหรือจิตที่เกิดขึ้นตามวงจรแล้วก็ตาม ก็ต้องหยุดคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน หรือก็คือการอุเบกขาเป็นที่สุดนั่นเอง
คำว่าไม่แทรกแซงด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆ ถ้อยคิดหมายถึงความคิดความนึกไปปรุงแต่งหรือไปฟุ้งซ่าน ส่วนคำว่ากริยาจิต หมายถึงอาการการกระทำของจิต ดังเช่น การไปจดจ่อ ไปจดจ้อง ไปพัวพันหรือการไปโฟกัสในเวทนา(เช่น ทุกขเวทนา)หรือจิตเช่นความคิดที่เกิดขึ้นเหล่านั้น อันพึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า หมายถึงการปฏิบัติในชีวิตประจำวันหรือกระทำเป็นประจำสมํ่าเสมอ อันพึงยกเว้นในขณะวิปัสสนาหรือธัมมวิจยะพิจารณาธรรมนั้น เป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพึงกระทำ แต่เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นเวทนาหรือจิตคิดนึกปรุงได้ชัดเจนตามความเป็นจริงเท่านั้น ดังเช่น ในการโยนิโสมนสิการ หรือสติปัฏฐาน ๔
สรุป
อุเบกขาในโพชฌงค์ ประกอบด้วยทั้ง สติ สมาธิ และปัญญา กล่าวคือ มีสติระลึกรู้เท่าทันในเวทนาคือสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์(เวทนานุปัสสนา) หรือการมีสติระลึกรู้เท่าทันจิต กล่าวคือ จิตมีราคะ หรือจิตมีโทสะ หรือจิตมีโมหะ หรือจิตฟุ้งซ่าน หรือจิตหดหู่ ฯ.(จิตตานุปัสสนา) กล่าวคือมีสติระลึกรู้เท่าทันธรรมที่เกิดขึ้นแก่จิตอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามที อันย่อมส่งผลให้เป็นไปตามธรรมคือสิ่งที่มาผัสสะนั้นๆ เป็นธรรมดา กล่าวคือย่อมเกิดสุข ทุกข์ หรือจิตมีโทสะ ฯ. ตามการผัสสะนั้น แล้วมีสมาธิที่หมายถึงการมีจิตตั้งมั่น โดยการเจตนาสำรวมคือระวัง ด้วยการไม่เอนเอียง ไม่เข้าไปแทรกแซงคิดนึกปรุงแต่งคือฟุ้งซ่านไปในกิจนั้นๆ ไม่ยึดมั่นไปว่า ถูก-ผิด, บุญ-บาป, ดี-ชั่ว ฯ. ด้วยปัญญาที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งยิ่งจากการพิจารณหรือโยนิโสมนสิการในปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์ ๕ ว่า การแทรกแซงปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านต่อไปนั้น ย่อมยังให้เกิดการผัสสะอันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ขึ้นสืบเนื่องต่อไป เมื่อขาดการแทรกแซงปรุงแต่งหรือเหตุก่อเสียแล้ว ย่อมขาดการสืบเนื่องต่อไป และดับไปด้วยอำนาจอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นที่สุดโดยธรรมคือธรรมชาติ เมื่ออุเบกขาดังนี้ด้วย สติ สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่และต่อเนื่อง ย่อมเป็นสังขารที่สั่งสมจนเป็นมหาสติขึ้นในที่สุด อันย่อมทำให้จางคลายจากทุกข์ได้เป็นลำดับ จนถึงขั้นดับทุกข์เป็นที่สุด
สำหรับผู้ที่เข้าใจปฏิจจสมุปบาทได้ดีแล้ว กล่าวคือ เห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันจึงเกิดขึ้นได้เป็นลำดับอย่างถูกต้องแล้ว ก็สามารถใช้อุเบกขาในตำแหน่งต่างๆที่สติควรระลึกรู้เท่าทัน ดังนี้
๒. เมื่อสติเท่าทัน อุปาทานสังขาร(จิตตสังขาร)ดังในภาพประกอบ แล้วอุเบกขา (ดูรูปประกอบ "อุปาทานสังขาร" ที่อยู่ต่อจาก "ชาติอันคือสัญญูปาทานขันธ์")
๓. เมื่อสติรู้เท่าทัน อุปาทานเวทนา หรืออุปาทานสังขาร(จิตตสังขาร) ในวงจรชรา(วงจรเล็กสีแดงที่กระพริบอยู่) แล้วอุเบกขา (ดูรูปประกอบ)
การอุเบกขาให้ได้ผลยิ่ง
๑. ต้องมีญาณ คือความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เนื่องจากเป็นกำลังของจิตอันสำคัญยิ่งให้ปฏิบัติลุล่วงอย่างได้ผล ว่าทุกข์ล้วนแต่มีเหตุมาเป็นปัจจัยกันจึงเกิดขึ้น ดังความเข้าใจ(ญาณ)อันพึงเกิดขึ้นจากการเข้าใจในปฎิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา หรือ ขันธ์ ๕
๒. ต้องมีสติรู้เท่าทันจิต คือ สติปัฏฐาน ๔ นั่นแล จนเป็นมหาสติ
๓. ต้องหมั่นปฏิบัติอยู่เนืองๆ จนเป็นมหาสติอีกอย่างหนึ่งนั่นแล
การปฏิบัติ ไม่ใช่การหยุดคิดหยุดนึกทั้งปวง แต่คิดแล้ว ให้มีสติรู้เท่าทันว่าเป็นจิตตสังขารเยี่ยงไร และหยุดแต่การคิดนึกปรุงแต่ง กล่าวคืออุเบกขาเสียนั่นเอง
หรือแม้แต่ไปยึดในความว่างเป็นอารมณ์อย่างผิดๆ
จนเกิดความสุขสบายเป็นวิกขัมภนวิมุตติ จึงเข้าใจผิดไปว่าเป็นการหลุดพ้นอย่างถูกต้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น