วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โลกระทึก"อุกกาบาต"

โลกระทึก"อุกกาบาต"ถล่มรัสเซีย แรงกว่าระเบิดนิวเคลียร์ 20 เท่า! (ชมคลิปใหม่ล่าสุด)ระทึกขวัญกันไปทั้งโลก

เมื่อเห็นภาพข่าวสะเก็ด ′อุกกาบาต′ ขนาดใหญ่ พุ่งผ่านจากอวกาศ เข้ามาระเบิดและแตกตัวเหนือน่านฟ้าตอนกลางของประเทศรัสเซีย

ห่างจากพื้นดินเพียงแค่ไม่กี่สิบกิโลเมตร

สร้างความเสียหายให้กับสิ่งปลูกสร้าง อาคาร บ้านเรือนในพื้นที่ 6 เมืองของเขตเชลยาบินสก์ บริเวณเทือกเขาอูราล ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม ห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันออก 1,500 ก.ม. 

แรงระเบิดในช่วงเช้าวันที่ 15 ก.พ.56 ทำให้เกิด ′คลื่นกระแทก′ หรือแรงอัดรุนแรงจนกระจกตามอาคาร-ที่พักต่างๆ แตกกระจุยกระจาย มีชาวหมีขาวได้รับบาดเจ็บประมาณพันกว่าคน

ด้วยเทคโนโลยีมือถือและกล้องบันทึกภาพขนาดพกพายุคปัจจุบัน จึงทำให้ชาวรัสเซียผู้เห็นเหตุการณ์ถ่ายภาพเหตุการณ์ดังกล่าวออกมาเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต และสำนักข่าวชื่อดังไปทั่วโลก

มองดูแล้วราวกับภาพที่หลุดออกมาจากภาพยนตร์ไซ-ไฟ ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวู้ด สารพัดเรื่อง ที่มีเค้าโครงพูดถึงวันสิ้นโลกจากเหตุดาวเคราะห์น้อย หรืออุกกาบาตยักษ์พุ่งถล่มโลกมนุษย์ของเราจนราพณาสูร

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ยิ่งน่าตื่นตระหนกยิ่งขึ้น เนื่องจากคืนวันเดียวกันนี้ นักดาราศาสตร์ได้ชี้เอาไว้ว่าจะมีดาวเคราะห์น้อย "2012 DA14" โคจรเฉียดโลกเข้ามาอีกดวง

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการโคจรของ "2012 DA14" ก็เป็นไปตามการคำนวณ นั่นคือ ผ่านโลกไปโดยไม่ทำอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น!

หลังเกิดเหตุ เศษอุกกาบาตถล่ม

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งการด่วนให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยกว่า 20,000 คน กระจายกำลังลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในแคว้นเชลยาบินสก์ ทางภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับความเสียหายจากอุกกาบาตมากที่สุด

ทั้งนี้ วันถัดมา 16 ก.พ. ทางการรัสเซียได้รับรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากวันแรก เป็นกว่า 1,200 คน 

ส่วนใหญ่มีบาดแผลตามร่างกายจากการถูกเศษกระจกบาด ซึ่งเกิดจากการได้รับความร้อนและคลื่นสั่นสะเทือนความถี่สูงของอุกกาบาต

นอกจากนี้ ยังมีรายงานบ้านเรือนและอาคารพาณิชย์ในพื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า 3,000 แห่ง

กระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติรัสเซีย แถลงว่า อุกกาบาตดังกล่าวพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ที่ระยะ 30-50 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน 

1.ทะเลสาบเชบาร์คูล ตอนกลางรัสเซีย หนึ่งในจุดที่เศษอุกกาบาตตกใส่

2.กำแพงโรงงานถึงกับพังครืน

3.กระจกห้องเรียนพัง

4.ภาพจากหนังไซ-ไฟฮอลลีวู้ด จินตนาการวันโลกแตก

5.ผลจากคลื่นกระแทก ทำกระแจกแตกยับ

6.อาคารที่พักเสียหาย เพราะแรงระเบิดเศษอุกกาบาต

7.ชาวรัสเซียขับรถผ่านซากความเสียหาย

8.แรงอัดทำให้ฝ้าเพดานเปิดเปิง


ปลดปล่อยพลังงานมหาศาลหลายกิโลตันเทียบเท่าอาวุธนิวเคลียร์ ส่งชิ้นส่วนอุกกาบาตกระจายตัวในลักษณะฝนดาวตก 

โดยพบชิ้นส่วนขนาดใหญ่แล้ว 3 ชิ้น ชิ้นหนึ่งทำให้เกิดหลุมใหญ่ที่ทะเลสาบเชบาร์คูล พร้อมทั้งปฏิเสธข่าวที่ว่ากองทัพอากาศรัสเซียยิงจรวดขึ้นไปทำลายอุกกาบาต 

สำหรับพื้นที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือเมืองเชลยาบินสก์ ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม และมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ด้วย แต่ไม่ได้รับอันตรายใดๆ 

โรงงานที่เสียหายหนักที่สุดคือโรงงานสังกะสี ซึ่งหลังคาพังถล่ม

นักวิทยาศาสตร์ของสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ "นาซ่า" ระบุว่า 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มเกิดขึ้นเพียงทุก 100 ปีเท่านั้น

โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2451 ที่แถบ ′ทังกัสก้า′ ของรัสเซียเช่นกัน 

ส่วนการระเบิดของอุกกาบาตในวันที่ 15 ก.พ.56 ที่เพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ มีความรุนแรงเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นที 300,000 ตัน และรุนแรงกว่า ′ระเบิดนิวเคลียร์′ ที่กองทัพสหรัฐทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น เมื่อช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ถึง 20 เท่า!

ในส่วนของดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 นาซ่าถ่ายทอดสดนาทีโคจรเฉียดโลกผ่านทางเว็บไซต์ www.ustream.tv/nasajpl2 สดจากหอสังเกตการณ์ ประเทศออสเตรเลีย ในภาพมองเห็นดาวเคราะห์น้อยโคจรผ่านเข้ามาภายในเส้นทางวงโคจรของดาวเทียม 

จากการศึกษานักดาราศาสตร์พบว่า มีอุกกาบาตขนาดเท่าๆ กับ 2012 DA14 ที่โคจรใกล้โลกแบบนี้อีกกว่า 500,000 ดวง ซึ่งคิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของอุกกาบาตที่โคจรมาใกล้โลกทั้งหมด 

หากอุกกาบาตขนาดเท่า 2012 DA14 ชนโลก จะเกิดเหตุคล้ายกับการเกิดระเบิดที่ทุ่งทังกัสก้าในแคว้นไซบีเรียของรัสเซีย เมื่อปี 2451 ซึ่งทำให้เกิดทุ่งราบกว้างกว่า 2,200 ตารางกิโลเมตร โดยขนาดของอุกกาบาตที่ทำลายทังกัสกามีขนาดเล็กกว่า 2012 DA14 เพียงเล็กน้อย



ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ของไทยก็ได้อธิบายให้ความรู้กรณีอุกกาบาตถล่มรัสเซีย และ ดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 

ภาพใหญ่ซ้าย-ดีพอิมแพ็กต์ หนังอเมริกันที่ฉายภาพวันดาวเคราะห์น้อยถล่มโลก

1เหตุการณ์จริงราวกับในฉากหนังไซ-ไฟ

2.ภาพนาทีอุกาบาตพุ่งลงมาแล้วระเบิด

3.เส้นทางวิ่งของอุกาบาตเหนือฟ้ารัสเซีย


เริ่มจากดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สดร.ใช้กล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร ที่หอดูดาวแห่งชาติ จ.เชียงใหม่ เฝ้าติดตามการเคลื่อนที่และตำแหน่งของ 2012 DA14 อย่างใกล้ชิด ยืนยันว่าไม่มีการพุ่งชนโลก หรือส่งผลกระทบต่อโลกใดๆ ทั้งสิ้น

จากการคำนวณวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 พบว่าเคลื่อนที่พาดผ่านเข้ามาทางตอนเหนือของโลกในเวลาประมาณ 02.25 น. ของเช้าวันที่ 16 ก.พ. ตามเวลาในประเทศไทย และจะอยู่ในเงาของโลกประมาณ 18 นาที แต่สังเกตด้วยตาเปล่าไม่ได้ เพราะมีขนาดเล็กและมีความสว่างค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ในการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว 

"ถึงแม้ดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 จะเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรเข้ามาเฉียดใกล้โลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ แต่ขอยืนยันว่าจะไม่มีโอกาสชนโลกแต่อย่างใด" รองผอ.สดร.กล่าว



ดร.ศรัณย์ระบุด้วยว่า การเกิดอุกกาบาตตกในภาคกลางของรัสเซีย ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14

เหตุที่แดนหมีขาว สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าเป็น "อุกกาบาตขนาดเล็ก" ที่หลุดเข้ามาในวงโคจรของโลก และระเบิดในบรรยากาศโลกทำให้เห็นเป็นแสงสว่างวาบ อุกกาบาตขนาดเล็กนี้เข้ามาสู่บรรยากาศด้วยความเร็วที่มากกว่าเสียง ทำให้สังเกตเห็นภาพแสงขาวๆ พุ่งพาดผ่านท้องฟ้าก่อนที่จะมีเสียง และคลื่นกระแทกตามมา และเนื่องจากอุกกาบาตชิ้นนี้ระเบิดในบรรยากาศ จึงยังไม่พบรายงานว่ามีผู้พบเห็นเศษชิ้นส่วนของอุกกาบาตนี้

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าวัตถุนี้คืออะไรจนกว่าจะนำชิ้นส่วนมาศึกษาวิเคราะห์หาองค์ประกอบและที่มาของวัตถุดังกล่าว

ตามปกติแล้วจะมีอุกกาบาตขนาดเล็กหลุดเข้ามาในบรรยากาศของโลกทุกๆ วัน โดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แต่ในครั้งนี้วัตถุนี้อาจมีขนาดใหญ่กว่าและมีมวลรวมหลายตัน เมื่อเข้ามาในบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูง จึงเกิดการระเบิดเหนือพื้นโลก 20-30 ก.ม. เห็นแสงสว่างวาบและมีเสียงระเบิดตามมาเป็นระลอกในภายหลัง

ปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีโครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกของนาว่าและหลายหน่วยงาน ที่คอยติดตามวัตถุในลักษณะเช่นนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจจับวัตถุที่มีขนาดเล็กๆ ที่อาจมีวงโคจรที่ผ่านเข้าใกล้โลกได้ทั้งหมด เนื่องจากมีความสว่างน้อย และมีจำนวนมากนับล้านวัตถุ



ด้านรศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสดร. กล่าวถึงกรณีมีสะเก็ดอุกกาบาตตกลงบริเวณเทือกเขาอูราล ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ว่า

สะเก็ดอุกกาบาตดังกล่าวคงเป็นส่วนหนึ่งของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย ไม่น่าจะมาจากดาวเคราะห์น้อย "2012 DA14" เนื่องจากโคจรอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของโลก แต่รัสเซียที่ถูกอุกกาบาตชนนั้นอยู่ทางทิศเหนือ

และเนื่องจากมีขนาดเล็กทำให้เครื่องมือการตรวจจับวัตถุไม่สามารถพบเห็นได้ จนกระทั่งมาเห็นเป็นภาพลูกไฟเคลื่อนที่อยู่บนท้องฟ้า ซึ่งเกิดจากการที่วัตถุเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลกทำให้ติดไฟแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไม่น่าจะเกิดจากการที่กองทัพอากาศยิงจรวดใส่ จนกระทั่งระเบิดเกิดแรงดันขนาดใหญ่

วัตถุดังกล่าวมีน้ำหนักมากและเดินทางด้วยความเร็วสูงก็ทำให้เกิดคลื่นกระแทก จึงเป็น 2 สาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งกระจกแตก ตึกร้าว หรือหลังคาถล่ม และทำให้อุณหภูมิลดลง ไม่ใช่เกิดจากการที่วัตถุนั้นตกลงกระทบโลก เพราะมีการคาดการณ์ว่าสะเก็ดอุกกาบาตก่อนที่จะแตกกระจายหลังจากเสียดสีชั้นบรรยากาศน่าจะหนักประมาณ 10 ตัน ซึ่งถ้าหากมันตกกระทบพื้นโลกความเสียหายคงจะประเมินค่าไม่ได้

ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คล้ายกับที่เกิดในประเทศไทยเมื่อปี 2552 ที่จ.พิษณุโลก พบเศษอุกกาบาตขนาดเท่ากำปั้นตกลงใส่หลังคาบ้านประชาชน ซึ่งเราก็ไม่สามารถจะบอกหรือคำนวณได้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร เนื่องจากมันมีขนาดเล็ก

ไม่ต้องตกใจหรือตื่นกลัวต่อเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ขอให้ตระหนักเอาไว้บ้างว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติทุกวันของโลก เพราะวันๆ หนึ่งจะมีเศษอุกกาบาตตกลงมาเป็นตันตามทะเล มหาสมุทร หรือป่าเขา แต่เนื่องด้วยปัจจุบันความเป็นชุมชนเมืองของมนุษยชาติได้ขยายตัวมากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะถูกวัตถุนอกโลกพุ่งชนก็มีมากขึ้นตามไปด้วย" ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติกล่าว พร้อมเตือนสติไปในขณะเดียวกัน
ที่มา:www.innnews.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น